โรงพยาบาลเสนางคนิคม มีผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการปวดมึนชาฝ่าเท้าและมีความต้องการยาลดอาการปวดมึนชาเท้าเพิ่มขึ้นจึงได้นำกะลาปูนนวดเท้ามาให้บริการสำหรับผู้ป่วย แต่มีข้อจำกัดที่สามารถทำได้ในวันที่มารับบริการที่คลินิกเดือนละ ๑ ครั้งซึ่งไม่เพียงพอต่อการลดอาการชา ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนานวัตกรรมนวดเท้าสำหรับผู้ป่วยที่สามารถนำไปใช้ต่อที่บ้านซึ่งประยุกต์ใช้นวัตกรรม“๕ปุ่มก้นขวดนวดเท้าผู้ป่วยเบาหวาน” ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มาใช้แต่มีปัญหาในเรื่องความไม่แข็งแรงของนวัตกรรมดังนั้นการวิจัยกึ่งทดลอง ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการบำบัดเท้าด้วย นวัตกรรม “๕ ปุ่มก้นขวดนวดลดอาการมึนชาฝ่าเท้าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๒” ต่ออาการชาเท้าผู้ป่วยเบาหวาน ในโรงพยาบาลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิด ๒ ที่มีอาการชาเท้าจากการทดสอบด้วย Monofilament (ขนาด ๑๐ กรัม) ระดับ Moderate ที่มารับบริการระหว่างเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ ถึง เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ รูปแบบการดำเนินงานประกอบด้วย ๑) พัฒนานวัตกรรม ๕ ปุ่มก้นขวดนวดลดอาการมึนชาฝ่าเท้า และจัดทำคู่มือการใช้งานนำไปใช้กับผู้ป่วย ๒) สาธิตการใช้นวัตกรรมและอธิบายการใช้คู่มือ ๓) มอบนวัตกรรมกลับไปบำบัดที่บ้านให้ผู้ป่วยบำบัดอาการชาเท้าโดยการเหยียบ ๕ ปุ่มก้นขวดนวดลดอาการมึนชาฝ่าเท้า ทำเช้า – เย็น ครั้งละ ๑๕ นาที ทำต่อเนื่อง ๑ เดือน โดยมี อสม.ออกสุ่มตรวจตามบ้าน ๔) นัดมาตรวจอาการชาที่เท้า โดยมีนักกายภาพบำบัดเป็นผู้ตรวจทุกสัปดาห์ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบบันทึกโดยผู้วิจัย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์ โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษา พบว่า
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ ๘๓.๓ มีอายุ ๕๙.๙ ปี (SD = ๑๒.๑๓) สถานะภาพสมรส ร้อยละ ๗๐ จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ ๙๓.๓ ประกอบอาชีพทำไร่/ทำสวน ร้อยละ ๘๖.๗ โรคประจำตัวแทรกที่พบมากที่สุดเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ ๔๓.๓ ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน = ๒๓.๑๔ ปี (SD= ๔.๘๕) , ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาล ๒๑๕.๒๕ mg/dL(SD= ๓๖.๑๗) ภายหลังการได้รับการดูแลด้วยนวัตกรรมทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการมึนชาฝ่าเท้าหาย จำนวน ๑๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๖.๗ อาการมึนชาฝ่าเท้าลดลง จำนวน ๑๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๓.๓ ผู้ป่วยความพึงพอใจต่อการใช้นวัตกรรมภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (= ๔.๒๓ (SD=.๖๘))
สรุปได้ว่า นวัตกรรม “๕ ปุ่มก้นขวดนวดลดอาการมึนชาฝ่าเท้าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๒”สามารถลดอาการชาเท้าในผู้ป่วยเบาหวานได้ นวัตกรรมมีความแข็งแรงปลอดภัยและการเพิ่มระยะเวลาในการเหยียบบำบัดยังทำให้อาการชาเท้าลดลงมากขึ้น จึงควรนำมาใช้เป็นแนวทางการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เท้า การเกิดแผลที่เท้าให้กับผู้ป่วยเบาหวานต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น